POKAYOKE ???
สืบเนื่องจากได้เข้าไปแปลรายงานปัญหาการจัดส่งวัตถุดิบเข้าไปในไลน์การผลิตผิดพลาด จึงมีการพูดถึงโพะกะโยะเกะ ขึ้นมา วันนี้ก็เลยหยิบยกคำนี้มาอธิบายเผื่อใครยังไม่รู้จักจะได้ทำความรู้จักไปพร้อมกันค่ะ
ポカヨケ POKAYOKE โพะกะโยะเกะ : อุปกรณ์ป้องกันความผิดพลาด
สำหรับคำนี้คงจะได้ยินกันบ่อยจนคุ้นหูกันเลยทีเดียว คำนี้มักจะเขียนด้วยตัวอักษรคาตาคะนะ ในสมัยที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ยังเป็นเป็นล่ามเด็กน้อยไร้ประสบการณ์ ยังไม่รู้เรื่องอะไร และที่สำคัญไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน สมัยเรียนก็ไม่มีสอนเสียด้วย คนญี่ปุ่นพูดออกมาถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก มันคืออิหยังล่ะเนี่ย??? แต่โชคดีที่บริษัทส่วนใหญ่ก็พูดทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นกันเลย พอพูดคำว่าโพะกะโยะเกะปุ๊บ พี่ๆน้องๆพนักงานก็จะเข้าใจกันทันที มีแต่ล่ามเด็กน้อยนี้แหละที่ไม่เข้าใจ นึกถึงวันวานก็อดขำตัวเองไม่ได้555 ตอนนั้นพี่ๆพนักงานก็เลยช่วยอธิบายให้ว่ามันคืออะไร พูดง่ายๆก็คือมันเป็นอุปกรณ์กันโง่นั่นเอง ซึ่งอาจจะดูแรงหรือไม่สุภาพเอาเสียเลย แล้วอุปกรณ์มีหน้าที่อะไร??มีความหมายอย่างไร??เราไปทำความรู้มันให้มากกว่านี้กันดีกว่าค่ะ
**ปล.คนไทยมักออกเสียงว่า "โปกาโยเกะ"
POKAYOKE เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ถูกติดตั้งขึ้นมาขึ้นเพื่อป้องกันการผิดพลาดของการทำงานโดยเฉพาะในสายการผลิตจะมีการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ลำดับการหยิบชิ้นงานในกระบวนการประกอบ ถ้าหยิบผิดลำดับหรือลืมหยิบเครื่องก็จะไม่ทำงาน เป็นต้น เพราะในหลายๆ โรงงานไม่สามารถทำระบบอัติโนมัติไม่ได้ยังคงใช้คนทำงานเสียส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการทำงานก็มีมากเช่นกัน ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็จะก่อให้เกิดของเสียหรือที่เราเรียกว่างาน NG เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาคุณภาพตามมาเสียส่วนใหญ่ หรือเมื่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป(Finish Goods)แล้ว เมื่อมารู้ทีหลังก็ต้องมานั่งค้นหาและการเลือกของเสียออกจากของดีหรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Sorting ก็จะใช้เวลามากเพื่อทำการคัดแยกรวมถึงค่าใช้จ่ายก็จะตามมาด้วย หรือการค้นหาของไม่ดีที่เกิดขึ้นนั้นมีความยากลำบากและอาจจะหลุดลอดไปสู่ตลาดหรือลูกค้าได้ง่าย กลายเป็นปัญหาใหญ่ต้องเรียกรถลูกค้ากับมาแก้ไขวุ่นวายกันไปหมด ซึ่ง ณ จุดตรงนี้ เพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการผิดพลาดของการผลิตในขบวนการสายการผลิตไม่ให้หลุดลอดออกจากกระบวนการผลิต POKAYOKE จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ได้นำใช้งานหรือติดตั้งในสายงานการผลิตของตนเอง
แนวคิดพื้นฐานของโพะกะโยะเกะถูกนำเสนอและนำมาใช้ในระบบการผลิตแบบโตโยต้าโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่นชื่อ Shigeo Shingo (新郷重雄 しんごう しげお ค.ศ.1909-1990)แต่เดิมแนวคิดนี้ถูกเรียกว่า บะกะโยเกะ (ญี่ปุ่น: バカヨケ BAKAYOKE ?) ซึ่งแปลตรงตัวว่า หลีกเลี่ยงความโง่ ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนเป็น โพะกะโยะเกะ เพื่อให้ความหมายดูซอฟท์ขึ้น
เมื่อเวลาที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้ก้าวสู่หรือขยายไปในต่างประเทศก็ได้นำหลักการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันความผิดพลาดขยายไปสู่ในต่างประเทศเช่นกัน และคำนี้ก็ได้ขยายวงกว้างไปสู่ต่างประเทศผลที่ได้ก็คือ POKAYOKE (โพะกะโยะเกะ) เป็นคำที่สามารถสื่อสารกันได้ทั่วไปในวงการอุตสาหกรรมการผลิต ล่ามจึงไม่ต้องแปลคำนี้ว่าเครื่องป้องกันผิดพลาดแต่สามารถพูดทับศัพท์ได้เลย ซึ่งจะเข้าใจได้ง่ายกว่าค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างเข้าใจความหมายของคำว่า POKAYOKE กันมากขึ้นหรือยัง เราสามารถนำหลักการคิดเรื่อง POKAYOKE ไปประยุกต์ใช้ในงานของเราได้นะคะ เป็นการป้องกันความผิดพลาดในการทำงานของเรา ทำให้งานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น