日本(冬)

日本(冬)

Monozukuri “โมโนซุคุริ” คือ?

Monozukuri  “โมโนซุคุริ”


คุ้นเคยกันไหมกับคำว่า   Monozukuri  “โมโนซุคุริ”  หลายๆ บริษัทมีการนำหลักการนี้มาใช้ในการผลักดันและขับเคลื่อนธุรกิจ เท่าที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับหลายๆ บริษัทมักจะได้ยินคำนี้บ่อยๆ แล้วคำนี้ในภาษาญี่ปุ่นเขียนและมีความหมายว่าอย่างไร ทำไมคนญี่ปุ่นถึงให้ความสำคัญนำหลักการมาใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กร เราไปทำความรู้จักกับคำนี้กันเลย

ものづくり   Monozukuri  “โมโนซุคุริ”

คำนี้ส่วนใหญ่จะเขียนเป็นตัวอักษรฮิระคะนะ คำนี้เกิดจากผสมกันของคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น 2 คำ คือ 

物  Mono  "โมโน "
(ปล.ถ้าออกจะออกเสียงให้ถูกต้อง คือ “โมะโนะ” แต่คนไทยมักจะออกเสียงลากยาวเป็น”โมโน”)
หมายถึง สิ่งของ หรือ ผลิตภัณฑ์ 

づくり Zukuri  "ซุคุริ" 
หมายถึง การสร้าง การผลิต หรือการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมา

เมื่อเรานำสองคำนี้มารวมกันจะแปลว่า การผลิตสิ่งของหรือสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการขึ้นมา  และสิ่งที่สร้างมาจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ 

ฉะนั้นในการผลิตจึงต้องใช้ทักษะและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพเพื่อให้ได้งานที่ดีออกมา และมีการพัฒนาปรับปรุงหรือที่เราเรียกว่า KAIZEN อย่างต่อเนื่อง  ไม่เพียงแต่สร้างเทคโนโลยีเท่านั้น จะต้องสร้างคนที่มีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม หรือร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่องค์การได้จัดขึ้นมา เช่น กิจกรรมไคเซ็น (KAIZEN) ,กิจกรรม 5 ส, กิจกรรม QCC , กิจกรรม TPM เป็นต้น เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะทั้งทางด้านเทคโนโลยีและด้านแนวความคิด “คิดเป็น ทำเป็น และเรียนรู้ได้ตัวเอง” 



บริษัทโตโยต้าเองได้อธิบายความหมายของ Monozukuri ไว้ว่า

“Monozukuri เกิดจากการผสมผสานคำของญี่ปุ่น คำว่า Mono หมายถึง ผลิตภัณฑ์  zukuri หมายถึง การผลิต การสร้าง หรือการรังสรรค์สิงต่างๆ

คำว่า Monozukuri มีความหมายกับเรามากกว่าเพียงการเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยานยานต์ แต่ความหมายของมันครอบคลุมไปถึงการเป็นผู้รังสรรค์วิธีการและกระยวนการผลิตต่างๆ รวมถึงพัฒนาระบบการขายและการให้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค่าได้อย่างสูงสุด
Monozukuri ยังหมายถึง การสร้าง ทักษะความรู้ ความสามารถ ความภาคภูมิใจ ความพึงพอใน รวมถึงการบรรลุความสำเร็จโดยศึกษาจากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาจากความผิดพลาดในอดีตด้วย”

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซด์

หมายเหตุ  บางตำราจะเขียนคำว่า ものづくり เป็นโรมันจิว่า “Monodzukuri”  มีความหมายเหมือนกันไม่แตกต่าง

พอจะเข้าใจความหมายและนึกภาพความเชื่อมโยงของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำนี้กันหรือยัง ขอให้สนุกกับกิจกรรมต่างๆ ของ Monozukuri กันนะคะ

วันวาเลนไทน์ที่ญี่ปุ่น

วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day)

          สวัสดีค่ะ เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว วันเวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ถ้าพูดถึงเดือนกุมภาพันธ์แล้วเราจะมองว่าเป็นเดือนแห่งความรักเพราะวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันวาเลนไทน์ คนไทยหลายคนก็ให้ความสำคัญกับวันนี้ โดยเฉพาะวัยรุ่น หนุ่มสาว ก็จะดอกไม้ ช็อคโกแลต ลูกอมหัวใจ หรือไม่ก็ของขวัญกับคนรักของตนเองซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะที่ผู้ชายมอบให้กับผู้หญิง แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นล่ะก็มีรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร หลายๆ คนอาจจะรู้แล้วว่าที่ญี่ปุ่นวันวาเลนไทน์เป็นวันที่ผู้หญิงมอบช็อคโกแลตให้แก่ผู้ชายเท่านั้น และดูเหมือนว่าจะมีแต่ประเทศญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมแบบนี้

          ถ้าใครไปที่ญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะเห็นว่าในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ก็จะนำเอาช็อคโกแลตวาเลนไทน์ออกมาวางขายมากมาย มีรายหลายรูปแบบให้เลือกสรร ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะมีการจัดการส่งเสริมการขายหรืออีเว้นท์ที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ รวมถึงรายการโทรทัศน์ก็จะมีการพูดถึงวันวาเลนไทน์บ่อยๆ ในช่วงนี้



          วัฒนธรรมการให้ช็อคโกแลตของชาวญี่ปุ่นอาจดูแปลกสำหรับเรา แต่สำหรับสาวๆ ชาวญี่ปุ่นแล้ว นี่เป็นโอกาสที่เหมาะเหม็งที่จะทำการสารภาพความในใจกับคนที่เราชอบ พูดแล้วก็นึกถึงละครญี่ปุ่นหลายๆ เรื่องๆ ที่มักจะมีฉากหรือซีนที่ผู้หญิงไปสารภาพรักกับคนที่ชอบ สำหรับการมอบช็อคโกแลตให้แก่ผู้ชายที่เราชอบ อาจจะซื้อมาหรือลงมือทำเองตกแต่งให้สวยงามก็ได้ แต่ก็ไม่จำกัดว่าจะให้แต่คนที่เราชอบเท่านั้น เรายังสามารถให้เพื่อนร่วมงาน เพื่อน หรือตัวเองกันได้เช่นกัน ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นมีคำเรียกแตกต่างกันออกไป เราไปทำความรู้จักคำศัพท์เหล่านั้นกันเลยค่ะ


ช็อคโกแลตที่มอบให้กับคนที่ชอบ หรือคนรัก
本命チョコ
Honmei choko
ฮงเมช็อคโก้
ช็อคโกแลตที่มอบให้กับหนุ่มที่ทำงาน หรือเพื่อนที่เป็นผู้ชาย
義理チョコ
Giri choko
กิริช็อคโก้
ช็อคโกแลตที่มอบให้กันในระหว่างเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน
友チョコ
Tomo choko
โทโมช็อคโก้
ช็อคโกแลตที่มอบให้กับพ่อ พี่ชาย น้องชาย หรือญาติที่เป็นผู้ชาย
ファミチョコ 
Fami choko
แฟมมิช็อคโก้
การซื้อช็อคโกแลตที่พิเศษเป็นของขวัญให้ตัวเอง เป็นรางวัลหรือเพื่อให้กำลังใจกับตนเอง
ご褒美チョコ
Go houbi choko
โกะโฮบิช็อคโก้
ช็อคโกแลตที่มอบให้กับบุคคลที่มีพระคุณ
世話チョコ 
Sewa choko
เซะวะช็อคโก้
ช็อคโกแลตที่มอบให้กับผู้ชายให้กันเอง
ホモチョコ 
Homo choko
โฮโมะช็อคโก้

          ตามประเพณีและวัฒนของญี่ปุ่น เมื่อมีการได้รับก็จะมีการให้สิ่งตอบแทนกลับไป
ที่ญี่ปุ่นจึงมีวันไวท์เดย์ (White Day) เป็นวันที่ฝ่ายชายจะต้องมอบสิ่งตอบแทนกลับไปให้กับผู้หญิง คือวันที่ 14 มีนาคม ครบ 1 เดือนหลังจากวันวาเลนไทน์นั่นเอง 

          รู้จักวัฒนธรรมวันวาเลนไทน์ของญี่ปุ่นกันมากขึ้นหรือยังเอ่ย สุขสันต์วันวาเลนไทน์ มีความรักและความสุขกันทั่วหน้านะคะ